เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม) งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยมินนิโซตา เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ระบุว่า อาหารเพื่อสุขภาพส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ส่วนอาหารอื่นๆ เช่น เนื้อแดง ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยนับว่าเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยนำเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมาเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อม
ทีมนักวิจัยทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของอาหารจากโลกตะวันตกราว 15 ประเภท พบว่า ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรค พร้อมกับรักษาสภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำ
ขณะที่การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปเป็นสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและมลภาวะ นักวิจัยจึงแนะนำว่าหากบริโภคอาหารที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับปานกลาง และไม่ส่งผลร้ายกับสุขภาพอย่างธัญพืชที่ผ่านการขัดสีแล้ว ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ และเนื้อไก่ที่พอจะสามารถทดแทนการบริโภคเนื้อแดงได้ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม มีอาหารไม่กี่ประเภทที่ได้รับข้อยกเว้นจากการค้นพบดังกล่าวคือ ปลา ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าค่าเฉลี่ยของอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก (Plant-based diets) และอาหารที่มีน้ำตาลสูงอย่างบิสกิตหรือน้ำอัดลมส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อย แต่กลับเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ไมเคิล คลาร์ก หัวหน้าทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า “การเลือกอาหารที่ดีและสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหนทางหลักที่ผู้คนสามารถสร้างเสริมสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมได้”
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าข้อมูลที่มีรายละเอียดมากกว่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภค นักวางแผนนโยบาย และบริษัทผลิตอาหารเลือกสิ่งที่ดีกว่าได้ นักวิจัยจึงกำลังทำงานเกี่ยวกับฉลากอาหารที่ให้ข้อมูลทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกอาหารของผู้บริโภคด้วย
The post งานวิจัยเผย อาหารเพื่อสุขภาพ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป first appeared on Food for Healthy & Exercise.
* This article was originally published here
No comments:
Post a Comment