อกไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้พลังงานสูง อุดมไปด้วยโปรตีนจำนวนมาก แต่มีไขมันน้อย จึงพบอาหารชนิดนี้ได้ในอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายเมนู โดยคนเชื่อว่าการบริโภคอกไก่อาจช่วยลดและควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งอาจเสริมสมรรถภาพระหว่างการออกกำลังกายได้ด้วย
เนื้ออกไก่ที่ไม่มีหนังปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 120 แคลอรี่ และให้โปรตีนสูงถึง 22.50 กรัม ในขณะที่มีไขมันเพียง 2.62 กรัมเท่านั้น อีกทั้งยังปราศจากน้ำตาลและประกอบไปด้วยสารโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายอย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม และวิตามินเอ โดยในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้พิสูจน์คุณประโยชน์ต่าง ๆ ของอกไก่ไว้ ดังต่อไปนี้
ช่วยลดน้ำหนัก การบริโภคอาหารที่มีไขมันน้อยอย่างอกไก่อาจช่วยลดหรือรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ซึ่งมีงานค้นคว้าที่พบว่าอกไก่อาจเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในเมนูลดน้ำหนักได้ โดยอีกงานวิจัยหนึ่งก็ค้นพบว่าการบริโภคโปรตีนจากเนื้อไก่ในปริมาณ 200 กรัม 4 ครั้ง/สัปดาห์ อาจช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย
แม้อกไก่อาจช่วยลดน้ำหนักได้ แต่งานวิจัยข้างต้นก็เป็นเพียงการศึกษาจากกลุ่มทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปประสิทธิผลของอกไก่ในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมโดยขยายกลุ่มทดลองให้ใหญ่ขึ้น เพื่อนำหลักฐานที่ได้มายืนยันสมมติฐานดังกล่าวต่อไป
เสริมสมรรถภาพการออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่ก็อาจทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยหรือหมดแรง และส่งผลให้กล้ามเนื้อล้าได้เช่นกัน ซึ่งในอกไก่มีโปรตีนที่อาจช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย บำรุงกล้ามเนื้อ ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อล้าง่ายจนเกินไป และอาจเสริมสมรรถภาพในการออกกำลังกายให้ดีขึ้นด้วย
มีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากอกไก่ปริมาณ 500 หรือ 2,000 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน แล้วพบว่าอกไก่ไม่ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายเมื่อรับประทานในรูปแบบของอาหาร อีกทั้งยังเป็นแหล่งของสารแอนเซอรีน (Anserine) และสารคาร์โนซีน (Carnosine) ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า สารสกัดจากอกไก่อาจช่วยเพิ่มความเข้มข้นของสารแอนเซอรีนและสารคาร์โนซีนในกล้ามเนื้อ ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าสารเหล่านี้อาจช่วยฟื้นฟูอาการเหนื่อยระหว่างออกกำลังกายโดยลดการสะสมกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ ยับยั้งสารไฮโดรเจนไอออนในกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกายอย่างหนัก และยับยั้งการลดระดับ pH ในเซลล์กล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อล้าได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ทำให้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ จึงควรศึกษาค้นคว้าในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
บริโภคอกไก่อย่างไรให้ปลอดภัย ?
แม้มีงานวิจัยที่เผยว่าอกไก่อาจไม่ทำให้เกิดพิษหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพหากบริโภคในรูปแบบของอาหาร แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานค้นคว้าใดสามารถระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคอกไก่ได้อย่างชัดเจน ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยยังเผยอีกว่า เนื้อไก่สดอาจปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ และมีสารพิษตกค้างที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อและรับประทานอกไก่อย่างระมัดระวังในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ
ส่วนเชื้อโรคหรือสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนในอกไก่ และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงเกิดการเจ็บป่วยได้ มีดังนี้
- สารบอแรกซ์ เป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรงอีกชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตอาหารนิยมนำมาใช้ เพราะทำให้อาหารมีลักษณะยืดหยุ่น กรอบ และอร่อย ซึ่งอาจเจือปนอยู่ในเนื้อไก่หรือไก่บด
- สารฟอร์มาลีน ถูกนำมาใช้เพื่อคงความสดของเนื้อไก่ แต่หากรับประทานเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงเป็นหมัน โรคตับ ไตเสื่อม และโรคมะเร็งได้ โดยอาจพบสารนี้ได้ทั้งในเนื้อไก่สดและเนื้อไก่แปรรูป
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) และเชื้ออีโคไล (E. coli) ที่เป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาจเจือปนอยู่ในเนื้อไก่สดหรือเนื้อไก่แช่แข็ง
- เชื้อไวรัส เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ เช่น H5N1 และ H7N9 เป็นไวรัสที่พบในสัตว์ปีกอย่างไก่ ซึ่งเชื้อดังกล่าวอาจตกค้างอยู่ในเนื้อไก่ดิบ และหากรับประทานเข้าไปก็อาจทำให้ติดเชื้อจนเป็นโรคไข้หวัดนกได้
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานอกไก่ ผู้บริโภคอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- เลือกซื้อจากร้านค้าที่สะอาดได้มาตรฐาน หรือร้านที่มีการรับรองคุณภาพจากกรมปศุสัตว์
- เลือกอกไก่ที่ถูกเก็บรักษาด้วยความเย็น เพราะความเย็นช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเลือกซื้อเนื้อไก่ที่มีสีธรรมชาติ เนื้อไม่คล้ำ ไม่มีจุดเลือดออก ไม่มีรอยฟกช้ำ และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
- เก็บเนื้อไก่ที่ซื้อมาใส่ตู้เย็นทันที โดยเก็บไว้ในช่องธรรมดาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4.4 องศาเซลเซียสสำหรับใช้ประกอบอาหารภายใน 1-2 วัน หรือเก็บในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิ -17.8 องศาเซลเซียส หากต้องการเก็บไว้ในระยะยาว
- หากมั่นใจว่าแหล่งที่มาและการขนส่งเนื้อไก่สะอาดปลอดภัยดี ไม่แนะนำให้ล้างทำความสะอาดอกไก่ด้วยน้ำเปล่าก่อนปรุงอาหาร เพราะอาจทำให้เชื้อต่าง ๆ แพร่กระจายออกไปได้ เช่น เข้าสู่มือ เสื้อผ้า พื้นที่ปรุงอาหาร หรืออุปกรณ์ทำครัวอื่น ๆ เป็นต้น เพราะการใช้ความร้อนปรุงอาหารจะฆ่าเชื้อโรคเหล่านั้นได้อยู่แล้ว
- ปรุงอกไก่ให้สุกดีเสมอ เพราะการปรุงสุกจะช่วยฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ โดยอาจปรุงอกไก่จนสุกในระดับที่แตกต่างกันตามวิธีทำอาหาร เช่น อบอกไก่อาจใช้ความร้อนประมาณ 177 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 20-30 นาที ต้มหรือตุ๋นอกไก่นาน 25-30 นาที หรือปิ้งย่างอกไก่นาน 6-8 นาที/ด้าน เป็นต้น
The post อกไก่ กับประโยชน์ต่อสุขภาพ appeared first on Food for Healthy & Exercise.
* This article was originally published here
No comments:
Post a Comment