Saturday, July 18, 2020

อาหารสำหรับผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia)

โรคไขมันในเลือดสูง

        เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับโคเลสเตอรอลสูงหรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 

สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

     1. ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

     2. ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

     3. การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

     4. รับประทานอาหารที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย

     5. โรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ  โรคเบาหวาน โรคไต ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

     6. พันธุกรรม

ไขมันในเลือดที่สำคัญ

1. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจาก น้ำตาล แป้ง แอลกอฮอล์ และส่วนหนึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานมาก สามารถทำให้หลอดเลือดอุดตันได้  

2. โคเลสเตอรอล ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองและส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร แหล่งโคเลสเตอรอลในอาหารพบมากใน ไข่แดง ปลาหมึก หอยนางรม เครื่องในสัตว์ นม เนย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ   

     2.1    โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (แอล ดี แอลโคเลสเตอรอล / LDL) หากมีระดับสูงเกินไปจะไปสะสมที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ หรืออุดตัน   

     2.2    โคเลสเตอรอลชนิดดี (เอช ดี แอลโคเลสรอล / HDL) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เหลือไปทำลายที่ตับ ป้องกันการเกิดภาวะเลือดแดงแข็ง

 เป้าหมายในการควบคุม

• ไตรกลีเซอร์ไรด์  < 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร( < 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)

• โคเลสเตอรอลรวม <200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

• โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (แอล ดี แอลโคเลสเตอรอล(LDL)) < 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

•  โคเลสเตอรอลชนิดดี (เอช ดี แอลโคเลสรอล(HDL))

        ผู้ชาย >40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร  ผู้หญิง >50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

เอาชนะอุปสรรคด้วยการเลือกอาหาร

        ๐ เลี่ยงรับประทานไขมันสัตว์  เช่น มันหมู หมูสามชั้น สันคอหมู ขาหมูติดมัน หนังเป็ดพะโล้ ก้นไก่ ก้นเป็ด มันไก่ หากจะรับประทานไก่ ให้เลือกส่วนอก และควรลอกหนังออก ใช้เนื้อสัตว์มีไขมันอิ่มตัวให้น้อย คือ ปลา และไก่ไม่ติดหนัง (เลือกทานไก่บริเวณอก)

        ๐ เลี่ยงรับประทานไขมันจากน้ำมะพร้าวแก่ เช่น กะทิข้น ควรงดแกงเผ็ดใส่กะทิ แกงเขียวหวาน แกงคั่ว แกงกะหรี่ ฯลฯ ข้าวซอยใส่กะทิ ก๋วยเตี๋ยวแกง (แขก) ฯลฯ ควรใช้กะทิเทียม (ทำจากน้ำมันรำข้าว) หรือนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยแทน

        ๐ กะทิ สำหรับขนมใส่กะทิ (จากมะพร้าว) เช่น กล้วยบวชชี ขนมปลากริมไข่เต่า บัวลอย แกงบวดต่างๆ สาคูเปียก เต้าส่วน สามารถใช้กะทิเทียมหรือกะทิธัญพืชหรือนมพร่องมันเนยแทนได้เช่นเดียวกัน

        ๐ เลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง  เช่น ไข่ปลา ไข่แดง ตับ ไต มันสมอง ปลาหมึก หอยนางรม จำกัดไข่แดงไม่เกิน 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ ส่วนไข่ขาวรับประทานได้ทุกวัน สำหรับเครื่องในสัตว์ไม่ควรรับประทานบ่อย จำกัดครั้งละ 2-3 ชิ้น

        ๐ เลี่ยงการใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และไขมันจากสัตว์ เช่น มันไก่ มันหมูมาหลอมเป็นน้ำมันเพื่อปรุงอาหาร ควรใช้น้ำมันรำข้าวเป็นหลักในการผัดและทอดอาหาร โดยไม่ใช้ไฟแรงเกินไป และใช้น้ำมันพืชอื่นๆบ้าง

        ๐ เลี่ยงแหล่งไขมันทรานส์ ซึ่งพบมากในเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม หรืออาหารที่ใช้ไขมันดังกล่าว เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมพัฟและพาย มันฝรั่งทอด (French fried) น้ำมันทอดซ้ำ

        ๐ ลดอาหารที่เติมน้ำตาล ทั้งขณะปรุงประกอบอาหาร หรือเติมขณะกินอาหาร ขนมหวานจัด เครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูง (สังเกตปริมาณน้ำตาลได้จากฉลากโภชนาการ)

        – เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีผลทำให้ระดับ     ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (หากเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มไม่เกิน 1 ดริ้งต่อวัน ได้แก่ เบียร์ 1 กระป๋อง หรือเหล้า 45มิลลิลิตร หรือ ไวน์ 150 มิลลิลิตร)

        ๐ เลี่ยงการสูบบุหรี่

        ๐ เลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย

        ๐ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ใช้น้ำมัน เช่น ยำต่างๆ แกงเลียง แกงส้ม แกงเหลือง แกงป่า แกงจืด ต้มยำ ปลานึ่งกับผัก ปลาย่าง มะเขือเผา(ไม่ไหม้) อาหารที่ผัดใส่น้ำมันน้อย อาหารทอดที่ไม่อมน้ำมัน ปลาทอดโดยไม่ชุบแป้ง ไข่เจียวทอดใส่น้ำมันน้อย แทน อาหารผัดน้ำมันนองจาน อาหารทอดอบน้ำมัน เช่น ไข่ฟู ปาท่องโก๋ ไก่ชุบแป้งทอด

        ๐ เลือกรับประทานถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลือง และปลาทู ปลาโอ ปลาทูน่า ปลาซาบะ ไขมันใต้ผิวหนัง ปลาทะเลดังกล่าวมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 อยู่มาก ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง (อย่างไรก็ตาม ไขมันชนิดโอเมก้า 3 จัดเป็นไขมันชนิดหนึ่งในผู้ที่รับประทานในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากรับประทานในปริมาณที่มากก็สามารถทำให้อ้วนได้)

        ๐ เลือกรับประทานนมชนิดไขมันต่ำ(นมพร่องมันเนย) แทนนมสดครบส่วน

        ๐ เลือกรับประทานไอศกรีมไขมันต่ำหรือเชอเบท แทนไอศกรีมกะทิและไอศกรีมที่ทำจากนมและครีม

แนะนำการเลือกซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมัน ดังนี้

เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทและควรสังเกตเครื่องหมาย อย. รวมถึง วัน เดือน ปี ที่ผลิต

  1. การเลือกซื้อน้ำมัน ต้องคำนึงถึงวิธีการปรุงประกอบด้วย เช่น  ถ้าเป็นเมนูอาหารทอด ต้องเลือกน้ำมันที่ทนความร้อนได้ดี ไม่เสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น น้ำมันปาล์มโอเลอิน และควรใช้ครั้งเดียว ไม่ควรทอดซ้ำ สำหรับน้ำมันที่ไม่เหมาะสมกับการทำเมนูทอด ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน เพราะทนความร้อนได้ไม่ดี เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ถ้ากินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด
  2. สำหรับเมนูอาหารผัดหรือทำน้ำสลัด ก็สามารถใช้น้ำมันพวกนี้ได้ (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน)
  3. น้ำมันหีบเย็น เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา สำหรับคนที่ชอบกินสด ไม่จำเป็นเสมอไปสำหรับทุกคน น้ำมันชนิดใดก็ตามเมื่อคิดสัดส่วนพลังงานแล้วได้พลังงานที่มีค่าเท่ากัน สามารถทำให้อ้วนได้เช่นกัน ควรกินให้ถูกสัดส่วนและปริมาณที่กำหนด

The post อาหารสำหรับผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia) appeared first on Food for Healthy & Exercise.



* This article was originally published here

No comments:

Post a Comment